ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อย ตลาดรอดูทิศทางเงินเฟ้อและดอกเบี้ย

ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อย ตลาดรอดูทิศทางเงินเฟ้อและดอกเบี้ย

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อย ตลาดรอดูทิศทางเงินเฟ้อและดอกเบี้ย หลังเฟดส่งสัญญาณจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับคุมเข้มต่อไปอีก 2-3 ปี เพื่อกดให้เงินเฟ้อลงมาอยู่ในระดับต่ำก่อนโควิดระบาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/2) ที่ระดับ 33.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/2) ที่ระดับ 33.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลักโดยได้รับแรงหนุนจากคำกล่าวของหนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ซึ่งกล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาคันซอส์ว่า ภารกิจของเฟดในการดำเนินการควบคุมเงินเฟ้อนั้นยังไม่สิ้นสุด เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

นอกจากนี้นายจอห์น วิลเลี่ยม ประธานเฟดสาขานิวยอร์กได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า เฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่คุมเข้มต่อไปอีกประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ความคิดเห็นจากทั้งสองท่านทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองจากก่อนหน้านี้ที่ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าไปหลังจากคำกล่าวของประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7/2) ที่ว่าปีนี้จะเป็นปีที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญและทำให้ตลาดมองว่าใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการประกาศเมื่อคืนวานนี้ (8/2) ได้แก่ สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบรายเดือนสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2563 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองเพิ่มขึ้น 7.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังอัตราดอกบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.41-33.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.45/46 บาท/ดอลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อย

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/2) ที่ระดับ 1.0713/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/2) ที่ระดับ 1.0752/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยหลักที่ตลาดให้ความสนใจคือความแตกต่างของเงินเฟ้อและนโยบายทางการเงินระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐ

โดยนายคลาส น็อต ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อในยุโรปดูเสมือนกำลังผ่านจุดสูงสุด และ ECB อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างมากหากเงินเฟ้อยังไม่ลดลงเมื่อถึงเวลานั้น

อย่างไรก็ดีในวันนี้ (9/2) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีได้เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของเยอรมนีเดือนมกราคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบรายปีต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 8.9% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธันวาคมที่เพิ่มระดับ 8.6% ส่วนเมื่อเทียบรายเดือนตัวเลขดังกล่าวปรับตัวขึ้น 1.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.8% และสูงกว่าเดือนธันวาคมที่ลดลง 1.2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0708-1.0760 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0753/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/2) ที่ระดับ 131.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/2) ที่ระดับ 130.70/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนวานนี้ (8/2) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลระบุว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2565 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.34 หมื่นล้านเยน (255.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากจากยอดเกินดุล 1.8 ล้านล้านเยนในเดือนพฤศจิกายน 2565 แสดงให้เห็นถึงการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เงินเฟ้อที่อ่อนค่ามีผลกระทบต่อดุลการชำระเงินที่เคยแข็งแกร่งของญี่ปุ่น โดยตลอดมานั้นยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นถือเป็นการบ่งชี้ถึงการส่งออกที่แข็งแกร่งของประเทศญี่ปุ่น และเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อมั่นในสกุลเงินเยนว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ลดลงรายเดือนในช่วงปีที่ผ่านมาเนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.80-130.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และเปิดตลาดที่ระดับ 130.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ จำนวนผู้ที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (9/2), อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของจีนเดือนมกราคม (10/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักร ประจำไตรมาสที่ 4 (10/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (10/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.25/-9.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.00/-7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวการเงินที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : หุ้นไทยวันนี้ (26 ม.ค. 66) ปิดตลาดภาคเช้า -5.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,676 จุด