เมตาเวิร์สยังไหวอยู่ไหม
เมตาเวิร์สยังไหวอยู่ไหม Horizon Worlds เจอบั๊กเยอะ, ที่ดินเสมือนเริ่มร้าง
ต.ค. ปีที่แล้ว Facebook เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta พร้อมวางเดิมพันใหม่กับเมตาเวิร์ส ที่คนจะใชีชีวิต เล่น และหาเงินบนโลกเสมือนจริงได้
ตอนนี้ก็ผ่านมาได้ร่วมปีแล้ว มีบริษัทใหญ่น้อยเข้ามาลงทุนในเมตาเวิร์ส แสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้ที่มันจะกลายเป็นผลกำไรในอนาคต
ส่วน Meta ก็เทเงินมหาศาลให้หน่วยธุรกิจ VR เครื่องจักรสำคัญที่จะทำให้ฝันเมตาเวิร์สของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นจริง ผ่านแพลตฟอร์ม Horizon Worlds แต่ความจริงอาจต้องทำงานหนักกว่าที่คิดกว่าจะไปให้ถึงฝั่งฝัน
The New York Times และ The Verge ได้ข้อมูลภายใน Meta พบว่าตอนนี้ Horizon Worlds กำลังเจอปัญหาเรื่องคุณภาพการใช้งานอย่างหนัก บั๊กเยอะ และยังไม่นับว่าแพลตฟอร์ม ยังไม่ได้รับความนิยมที่จะดึงดูดผู้ใช้งานได้ แม้แต่พนักงานยังไม่ใช้เลย
Vishal Shah รองประธานเมตาเวิร์สของ Meta ระบุในบันทึกภายใน ลงวันที่ 15 ก.ย. ว่าทีมงาน Meta จะใช้เวลาที่เหลือใน 1 ปีในการทำให้แน่ใจว่าคุณภาพของ Horizon Worlds เสถียรมากพอที่จะเปิดรับผู้ใช้งานมากขึ้น แต่ปัญหาคือ แม้แต่ทีมงานใน Meta ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ใช้มันมากนัก
ส่วนหนึ่งของ memo ยังบอกด้วยว่า “ทำไมล่ะ? ทำไมเราไม่รักผลิตภัณฑ์ของเรา จนเราใช้มันตลอดเวลา ถ้าเราไม่รักมัน เราจะคาดหวังให้ผู้ใช้ของเรารักมันได้อย่างไร”
“นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านความเสถียร และข้อบกพร่อง ที่ทำให้ยากเกินไปสำหรับชุมชนของเรา ที่จะได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของ Horizon”
ในบันทึกติดตามผล ลงวันที่ 30 ก.ย. Shah กล่าวว่าพนักงานยังคงใช้ Horizon ไม่มากพอ มีแผนที่จะให้ผู้จัดการรับผิดชอบ บังคับลูกทีมให้ใช้ Horizon อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
เดือน พ.ค. ที่ผ่านมามีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน Meta 1,000 จัดทำโดย Blind เครือข่ายโซเชียลมืออาชีพนิรนาม มีเพียง 58 % เท่านั้นที่เข้าใจกลยุทธ์เมตาเวิร์ส พนักงานยังบ่นเกี่ยวกับอัตราการลาออกที่สูง และการสับเปลี่ยนพนักงานบ่อยครั้ง เนื่องจากลำดับความสำคัญของนายซักเคอร์เบิร์กเปลี่ยนไป พนักงานบางคนพูดติดตลกถึงโครงการเมตาเวิร์สว่าเป็น MMH ที่ย่อมาจาก “make Mark happy”
Ashley Zandy โฆษกของ Meta กล่าวกับ The Verge ว่า “บริษัทมั่นใจว่าเมตาเวิร์ส คืออนาคตของการประมวลผล บริษัททำการปรับปรุงคุณภาพตามข้อเสนอแนะจากชุมชนผู้สร้างของเราอยู่เสมอ นี่เป็นการเดินทางหลายปี และเราจะทำให้สิ่งที่เราสร้างดีขึ้นต่อไป”
มาที่อีกแพลตฟอร์มกันบ้าง Decentraland และ The Sandbox แหล่งซื้อขายที่ดินบนโลกเมตาเวิร์สชื่อดัง ล่าสุด DappRadar บริษัทที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแอปพลิเคชัน เผยว่า Decentraland มีผู้ใช้งานรายวันอยู่ที่ 38 รายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ในขณะที่คู่แข่ง The Sandbox มีผู้ใช้งานอยู่ 522 ราย
ซึ่งผู้ใช้งานในบริบทของ DappRadar คือต้องมีการใช้จ่ายจริง ไม่ใช่แค่ล็อกอินเข้าไปเฉยๆ และไม่นับคนที่เข้าไปดูอีเว้นท์บนเมตาเวิร์ส เท่ากับว่ามีคนเข้าไปใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดกันไว้มาก
DappRadar เผยข้อมูลด้วยว่า จำนวนผู้ใช้รายวันสูงสุดที่เคยมีมาบน Decentraland คือ 675 ส่วน The Sandbox จำนวนนั้นมากกว่าที่ประมาณ 4,503
แต่ทีมงาน Decentraland บอกอีกอย่าง Sam Hamilton ผู้ซึ่งเป็น Creative Director ของ Decentraland บอกว่า บนแพลตฟอร์มมีผู้ใช้โดยเฉลี่ย 8,000 รายต่อวัน แต่ก็เป็นผู้ใช้งานที่เข้าไปมี interact บนแพลตฟอร์มเฉยๆ แต่ก็ยอมรับว่าตัวเลขคนที่เข้าไปเยี่ยมชมแพลตฟอร์มลดลงจริง
จากข้อมูลจาก Messari บริษัทวิเคราะห์ตลาดคริปโตฯ ระบุว่า ทั้ง Decentraland และ The Sandbox ต่างก็มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่เกมที่เล่นเพื่อหารายได้อย่าง Axie Infinity มีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 1.16 พันล้านดอลลาร์ และมีผู้ใช้เกือบ 22,000 รายต่อวัน
ในแง่ Decentraland และ The Sandbox มีปัจจัยชัดเจนที่ทำให้ผู้ใช้งานน้อยลง คือมูลค่าคริปโต และมูลค่าที่ดินเสมือนที่ขึ้นไวลงไว จนนำมาสู่ฟองสบู่เมตาเวิร์สแตก จากที่เคยซื้อขายกันหลักหมื่นเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 แลนด์ เหลือเพียงหลักพันเหรียญเท่านั้น
เมื่อหนทางสู่เมตาเวิร์สไม่ง่าย การตั้งคำถามถึงเมตาเวิร์ส ก็เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้ ทิม คุก ก็ประกาศตัวชัดเจนว่าเขาไม่อินเมตาเวิร์ส และนักลงทุนของ Meta ก็เริ่มสงสัยว่า การเทเงินลงทุนในเมตาเวิร์สจะไปสิ้นสุดตรงไหน
อย่างไรก็ตาม ในแง่กลุ่มเทคโนโลยี VR การเดิมพันของ Meta ก็ยังนำหน้าคู่แข่งอยู่ ชุดหูฟัง Quest 2 เป็น VR ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มียอดขายมากกว่า 15 ล้านชุด ส่วนแอป Meta Quest ก็มีการดาวน์โหลดมากกว่า 21 ล้านครั้งบน iOS และ Android ตามการประเมินโดย Sensor Tower
ติดตามข่าวธุรกิจเพิ่มเติม : แม็คโคร-โลตัส ผนึกกำลัง ธุรกิจ